ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นจึงเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของงูพิษหลายชนิด ทำให้มีงูอยู่มากถึง 165 ชนิด ซึ่งจัดเป็นงูพิษ 46 ชนิด เป็นงูพิษที่อาศัยบนบก 24 ชนิด และเป็นงูทะเล 22 ชนิด จากงูพิษทั้งหมดสามารถแบ่งชนิดของงูพิษได้ 3 ชนิดตามอาการของพิษ คือ
• พิษที่มีผลทางระบบประสาท ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง และงูสามเหลี่ยม เป็นต้น พิษของงูเหล่านี้จะแสดงอาการเร็ว คือตั้งแต่ 10 นาที ถึง หลายชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ขากรรไกรแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ตาพร่า อ่อนเพลียในที่สุดเป็นอัมพาต และอาจตายจากการหายใจล้มเหลว
• พิษที่มีผลทางระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเลชนิดต่างๆ มักจะแสดงอาการค่อนข้างช้า ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมง ถึงหลายชั่วโมงหลังจากถูกงูกัด บางทีอาจช้าถึง 1 วันได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา บางรายอาจเป็นอัมพาตบางส่วน หรืออัมพาตทั้งหมด ปัสสาวะลดลง และสีจะเข้มขึ้นจนคล้ายสีของโคล่า ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเนื่องจากไตวายหรือการหายใจล้มเหลว
• พิษที่มีผลทางระบบโลหิต ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมบริเวณที่ถูกกัดอย่างเห็นได้ชัดเจนมากกว่างูพิษทาง ระบบประสาท และมีเลือดซึมตามรอยเขี้ยว มีเลือดออกใต้ผิวหนังเห็นเป็นจ้ำๆ มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ในรายที่รุนแรงจะมีการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมีเลือดปน อวัยวะภายในตกเลือด มักเสียชีวิตจากอาการไตวาย
ที่มา : http://graphictravelsnake.blogspot.com/